The Inner Game of Tennis โฟกัสเกมภายในจิตใจ เพื่อชัยชนะเกมภายนอก

W.Timothy Gallway นักเขียนที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองในด้านชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานไว้หลากหลายแขนงในชื่อชุดหนังสือว่า “The Inner Game” โดยเขาเริ่มเขียนตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 มีทั้ง The Inner Game of Tennis, The Inner Game of Golf, The Inner game of Music, Inner Skiing และ The Inner Game of Work แต่เล่มที่มีชื่อเสียงที่สุดและมียอดการพิมพ์มากกว่า 1 ล้านเล่ม ได้แก่ The Inner Game of Tennis ซึ่งเขาเองมีประสบการณ์ตรงในการเล่นเทนนิสและการเป็นโค้ชเทนนิสให้แก่ผู้เล่นคนอื่นๆ อีกด้วย

เนื้อหาในหนังสือกล่าวถึงวิธีการให้ได้มาซึ่งความสำเร็จอย่างแท้จริงโดยใช้เกมเทนนิสเป็นตัวแทน ทุกๆ เกมประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือเกมภายนอกและเกมภายใน เกมภายนอกคือการต่อสู้กับคู่แข่ง ส่วนเกมภายใน หรือ Inner Game คือการเล่นกับจิตใจของผู้เล่นเองซึ่งอุปสรรคหลักๆ ก็คือความสงสัยในตนเองและความกระวนกระวายใจ การเอาชนะเกมภายในจึงต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรในการกำจัดความคิดของเราออกไปเพื่อให้เกิดผลการเล่นที่ดีที่สุด การเอาชนะเกมภายในคือการเอาชนะความสงสัยในตนเอง ความประหม่า ความกระวนกระวายใจ และการหลุดจากความจดจ่อในเกมที่จะทำให้คุณเล่นได้ดีที่สุด

ผู้เล่นแต่ละคนมี 2 ตัวตน “Self” อยู่ในร่างเดียวขณะที่เล่น ตัวตนที่ 1 คือ Ego-mind หรือ “Teller” ผู้บอกว่าต้องตีแบบนั้นสิ ตีแบบนี้สิ ตัวตนที่ 2 คือ ความสามารถตามธรรมชาติของร่างกายเรา หรือ “Doer” ผู้กระทำการ ที่เป็นความเคลื่อนไหวที่แท้จริงที่จะตีลูกบอก ในการเล่นให้ดีที่สุด เราต้องทำให้ตัวตนที่ 1 ในตัวเราเงียบซะ และปล่อยให้ตัวตนที่ 2 ในตัวเราทำตามสิ่งที่มันรู้ว่าต้องทำอย่างไร โดยจะจินตการผลลัพธ์ที่ต้องการหรือภาพความสำเร็จ วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ตัวตนที่ 1 ของเราเงียบได้ ไม่ใช่การตะโกนบอกมันว่า “หุบปากซะ” แต่คือการเรียนรู้ในการเพ่งความสนใจหรือโฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำและสิ่งอยู่ตรงหน้า นั่นก็คือร่างกายของเราและลูกบอล ในการสังเกตพฤติกรรมของเรา เราไม่ต้องตัดสินว่ามันดีไม่ดี ถูกหรือผิด

โดยสรุปใจความสำคัญก็คือ ผู้เล่นต้องไม่ยึดติดกับชัยชนะหรือความสำเร็จที่เป็นปัจจัยภายนอก แต่ต้องเอาชนะใจตนเองให้ได้ในการควบคุมตนเองให้มีความผ่อนคลายแต่โฟกัสในขณะเล่น แล้วท้ายที่สุดผู้เล่นคนนั้นก็จะได้รับความสำเร็จอย่างแท้จริง ซึ่งก็คล้ายกับปรัชญาของศาสนาพุทธนิกายเซนนั่นเอง โดยผู้เขียนกล่าวไว้ว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการดำเนินชีวิตในทุกๆ ด้าน

แนวทางจากหนังสือ The Inner Game of Tennis เป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของหลักการโค้ชในปัจจุบันในหลายๆ เรื่อง เช่น โค้ชให้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้รับการโค้ชในการคิดหาคำตอบด้วยตนเอง ในระหว่างการโค้ชทั้งตัวโค้ชและผู้รับการโค้ชต้องอยู่กับปัจจุบันขณะ ผู้รับการโค้ชจินตนาการภาพความสำเร็จหรือเป้าหมาย โค้ชใช้การถามคำถามแทนการให้คำแนะนำ โค้ชจะไม่ตัดสินว่าสิ่งที่ผู้บริหารพูดนั้นถูกหรือไม่ถูกต้อง โค้ชร่วมชื่นชมความสำเร็จและคอยให้กำลังใจ
**********
โค้ชบี ขนิษฐา หล่อลักษณ์ โค้ชผู้บริหาร/โค้ชผู้นำ และที่ปรึกษาการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร ได้รับวุฒิบัตรรับรองการโค้ชระดับ Associate Certified Coach (ACC) จากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation หรือ ICF) 
https://www.facebook.com/CoachACoach

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำได้ยาก.. แต่อยู่ด้วยได้ง่าย

ใครคืออาจารย์ของคุณ?

3F Model เพื่อการโค้ชสร้างผลงาน