บารมี 10 สำหรับผู้นำ


วันนี้ได้คุยกับพี่ท่านนึงซึ่งมีความรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี พี่เค้าได้บอกว่า ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรในโลกนี้ ส่วนใหญ่ก็จะตรงกับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เหมือนที่มีคำกล่าวว่า พระพุทธเจ้ารู้นานแล้วแต่ฝรั่งเพิ่งรู้
.
เรื่องการโค้ชก็เช่นกันค่ะ
.
วันออกพรรษาแบบนี้ ขอกล่าวถึงหลักธรรมที่ใช้ในการปกครองคน เรื่องบารมี 10 คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษเพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง .. คุณสมบัติของผู้บริหารอย่างหนึ่งก็คือความสามารถที่จะสร้างความเชื่อถือและความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งคงต้องใช้เวลาพิสูจน์ให้ปรากฏและประจักษ์ชัดแก่ผู้อื่น เรียกว่าเป็นการสร้างบารมีให้แก่ตัวเอง
.
พุทธศาสนาได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่จะก่อให้เกิดบารมีว่ามีอยู่ 10 ประการ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี
.
1.ทานบารมี - การให้ การเสียสละ อาจไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของมีค่าอะไร แค่การแนะนำ สั่งสอน ช่วยโค้ชให้ลูกน้องเก่งขึ้น ก็นับว่าเป็นทานบารมีแล้ว
2.ศีลบารมี - การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกน้อง
3.เนกขัมมะบารมี – ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม วางตัววางใจให้ดีเป็นที่น่าเคารพนับถือ
4.ปัญญาบารมี - ความรอบรู้ ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
5.วิริยะบารมี - ความเพียร ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่
6.ขันติบารมี - ความอดทน ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประะพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส
7.สัจจะบารมี - ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ
8.อธิษฐานบารมี - ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่นแน่ รู้เป้าหมายขององค์กร ของทีม และของตน เพื่อนำพาทีมงานไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน
9.เมตตาบารมี - ความรักใคร่ ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ลูกน้องมีความสุขความเจริญ
10.อุเบกขาบารมี - ความวางใจเป็นกลาง ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายหรือชอบฟัง
.
ผู้บริหารที่มีทัศนคติแบบโค้ช ถือได้ว่าได้นำหลักธรรมบารมี 10 มาใช้ โดยเริ่มตั้งแต่ “ทานบารมี” มีเวลาอบรมสั่งสอนหรือโค้ชให้กับลูกน้อง “เมตตาบารมี” มีความปรารถนาดีที่จะให้ลูกน้องเก่งขึ้น มีความสุขขึ้น “อุเบกขาบารมี” รับฟังลูกน้องอย่างตั้งใจและไม่ตัดสิน “อธิษฐานบารมี” สื่อสารถึงเป้าหมายขององค์กรและทีมงาน เพื่อให้ลูกน้องตั้งเป้าหมายของตนให้สอดคล้องกัน และมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายนั้น
.
“ปัญญาบารมี” ช่วยให้ลูกน้องเกิดปัญญาจากการโค้ชและวางแผนเพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายนั้น “วิริยะบารมี” และ “ขันติบารมี” ช่วงส่งเสริม สนับสนุนให้ตนเองและลูกน้องมีความพากเพียรและอดทน เพื่อทำงานให้ได้ตามที่ได้ตั้งใจไว้ “สัจจะบารมี” รู้สึกรับผิดชอบในสิ่งที่เป็นหน้าที่ของตน และทำตามสิ่งที่ได้พูดไว้ และ “ศีลบารมี” “เนกขัมมะบารมี” เป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรปฏิบัติเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกน้อง
.
ออกพรรษาแล้ว สิ่งดีๆ ก็ยังควรปฏิบัติกันต่อไปให้เป็นกิจวัตรนะคะ
**********
โค้ชบี ขนิษฐา หล่อลักษณ์ โค้ชผู้บริหาร/โค้ชผู้นำ และที่ปรึกษาการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร ได้รับวุฒิบัตรรับรองการโค้ชระดับ Associate Certified Coach (ACC) จากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation หรือ ICF)
กดไลค์เพื่อติดตามบทความทุกวันได้ที่https://www.facebook.com/CoachACoach
หรือติดตามบล็อกได้ที่ http://bemanagementcoach.blogspot.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำได้ยาก.. แต่อยู่ด้วยได้ง่าย

ใครคืออาจารย์ของคุณ?

The Inner Game of Tennis โฟกัสเกมภายในจิตใจ เพื่อชัยชนะเกมภายนอก