วันนี้คุณพูดกับ (ด่า) ลูกน้องแบบกระชับ เจาะจง มีเมตตา หรือเปล่า?

ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าของธุรกิจบริการแห่งหนึ่ง หลังจากที่ได้เรียนทักษะการโค้ชไปในวันแรกเพียงวันเดียว ก็เกิดความตระหนักรู้ในตัวเอง แล้วก็พูดกับดิฉันในวันนั้นว่า รู้แล้วว่าทำไมลูกน้องของเค้าถึงลาออกตลอด คงเป็นเพราะเค้าพูดกับลูกน้องโดยไม่มีเมตตา ถึงแม้ว่าจะเป็นการว่ากล่าวตักเตือนให้ลูกน้องทำงานให้ดีขึ้นโดยมีเจตนาดีต่อภาพรวมขององค์กรก็ตาม

David Rock ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Quiet Leadership ถึงหนึ่งในทักษะที่ผู้บริหารที่ต้องการดึงศักยภาพของลูกน้องให้มีผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น คือ การพูดที่มีเจตนาดี โดยที่คำพูดนั้นจะต้อง...

- กระชับ รวบรัด เห็นภาพสิ่งที่คุณต้องการจะพูด ทำให้ลูกน้องเข้าใจถึงสิ่งที่คุณต้องการสื่อออกไป หากคุณอารัมภบทยาวนานเกินไป หรือพูดบ่นด่าแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว คนฟังก็คงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่คุณพูดว่าคุณต้องการอะไร จำไว้ว่าหน่วยความจำของสมองในการทำงานของคนเรามันมีจำกัด!
- เฉพาะเจาะจงในสิ่งที่คุณพูด เช่น ไม่ควรพูดว่า "ไว้ค่อยคุยเรื่องนี้กันวันหลัง" แต่ให้พูดว่า "ไว้คุยกันเรื่องนี้บ่ายสามโมงวันนี้ว่าเราจะมีหัวข้ออะไรบ้างในการประชุมวันพุธหน้า" เมื่อมีความเฉพาะเจาะจง คุณได้สร้างความไว้วางใจให้กับลูกน้องของคุณได้เป็นอย่างดี และเค้าสามารถรู้ถึงสิ่งที่คาดหวังได้
- มีเมตตาต่อคนฟัง มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบในเชิงบวกต่อลูกน้องของคุณ เลือกคำพูดอย่างระมัดระวัง และให้ความสนใจในการสนทนาแบบเต็มที่

การพูดที่มีเจตนาดีต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน แต่ทุกคนก็สามารถทำได้ โดยก่อนอื่นต้องตระหนักรู้ในตัวเองก่อน ว่าการพูดของเราเป็นแบบไหน และทุกครั้งที่จะพูดคุยกับลูกน้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน ให้ถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังจะพูดนั้นมัน กระชับ เจาะจง และมีเมตตา หรือเปล่า

กลับมาที่คุณพี่ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้าท่านนั้น หลังจากนั้น 2 เดือน ดิฉันได้ไปติดตามผล ก็พบว่า พี่เค้าดูสีหน้าแววตามีความสุขมากขึ้น และบอกว่าได้นำวิธีการพูดแบบกระชับ เจาะจง และมีเมตตา ไปใช้กับทั้งที่บ้านและกับลูกน้องในที่ทำงานแล้วได้ผลดีขึ้นจริงๆ ค่ะ ^^
**********
โค้ชบี ขนิษฐา หล่อลักษณ์ โค้ชผู้บริหาร/โค้ชผู้นำ และที่ปรึกษาการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร ได้รับวุฒิบัตรรับรองการโค้ชระดับ Associate Certified Coach (ACC) จากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation หรือ ICF)
https://www.facebook.com/CoachACoach

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำได้ยาก.. แต่อยู่ด้วยได้ง่าย

ใครคืออาจารย์ของคุณ?

The Inner Game of Tennis โฟกัสเกมภายในจิตใจ เพื่อชัยชนะเกมภายนอก