Constructive Feedback ให้ฟีดแบ็คแบบสร้างสรรค์
“คุณทำงานได้แย่มาก!”
.
หรือจะเป็น
.
“อืม .. พี่ว่างานน้องก็โอเคแล้วล่ะ”
(แต่ในใจคิดว่า ไม่ได้เรื่องเลยอ่ะ สงสัยพี่ต้องแก้งานเองอีกบาน)
.
คุณเป็นหัวหน้าที่ให้ฟีดแบ็คกับลูกน้องแบบไหนกันคะ
.
ระเบิดอารมณ์ใส่
ลูกน้องไม่กล้าเข้าใกล้ถ้าไม่จำเป็น หรือใจดีจนไม่กล้าดุ เกรงว่าลูกน้องจะไม่รัก
.
คงไม่น่าจะดีทั้งสองแบบนะคะ
.
ผู้บริหารหรือหัวหน้าที่มีทัศนคติแบบโค้ช
สิ่งแรกที่ต้องมีซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
แต่ลูกน้องจะรู้สึกได้ นั่นก็คือ
ความรักความปรารถนาดีที่อยากจะให้ลูกน้องเราเก่งขึ้น มีผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น
และมีความสุขมากขึ้นในการทำงานร่วมกันกับหัวหน้า ทีมงาน และในองค์กร
.
เมื่อเรามีความปรารถนาดีต่อลูกน้องแล้ว
สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาแต่สร้างสรรค์ (Direct
Communication) อธิบายให้เฉพาะเจาะจงให้เค้าเข้าใจว่าเรารู้สึกต่อผลงานที่เค้าส่งมายังงัยบ้าง
สอบถามว่าเค้าคิดว่าอย่างไรจากสิ่งที่เราบอก
และถามให้เค้าคิดต่อว่ามีแนวทางจะกลับไปแก้ไขต่อไปอย่างไร
และกำหนดส่งงานครั้งต่อไปภายในเมื่อไหร่ มีสิ่งใดที่ต้องการให้เราสนับสนุน เช่น
ข้อมูล หรือความร่วมมือจากทีมงานคนอื่นๆ
.
นี่เป็นตัวอย่างแนวทางที่น่าจะทำให้ win-win
ทั้งสองฝ่าย หัวหน้าได้สื่อสาร Constructive Feedback คือให้ผลสะท้อนกลับแบบสร้างสรรค์เพื่อให้ผลงานดีขึ้น
ไม่หักหาญน้ำใจ .. ลูกน้องก็ได้คิดมากขึ้น
และมีแนวทางในการพัฒนางานต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
.
ในหนังสือศิลปะการใช้คนในสามก๊ก กล่าวถึงเรื่อง
"ไม่ถือความใกล้ชิด แยกคุณโทษแจ่มชัด" .. การใช้คนของขงเบ้ง โจโฉ ซุนกวน
อาศัยความชอบหรือความผิดเป็นหลักในการให้รางวัลหรือลงโทษ
โดยไม่คำนึงถึงความใกล้ชิดหรือไม่
ฉะนั้นเหล่าทหารทั้งนายและพลจึงมิได้เห็นแก่ชีวิต
พวกขุนนางน้อยใหญ่ก็ไม่กล้าเกียจคร้านเพิกเฉยต่อหน้าที่
.
การให้รางวัลหรือลงโทษของขงเบ้ง
มิได้คำนึงถึงเรื่องบุญคุณความแค้น มีความดีความชอบก็ให้รางวัล มีความผิดก็ลงโทษ
.
ม้าเจ๊กทำผิดในแผนยุทธการของขงเบ้ง จนทำให้เสียเกเต๋งจุดยุทธศาสตร์สำคัญไป
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างขงเบ้งกับม้าเจ๊กจะเป็นเสมือนหนึ่งพ่อลูก
แต่เขาจำต้องสั่งประหารม้าเจ๊กด้วยน้ำตานองหน้า เจียวอ้วนเคยทักท้วงว่า
“ซึ่งม้าเจ๊กกระทำให้เสียการครั้งนี้โทษถึงตายอยู่แล้ว
แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าบ้านเมืองยังมิราบคาบ
และมหาอุปราชจะมาฆ่าทหารเอกเสียฉะนี้หาเสียดายไม่หรือ”
.
ขงเบ้งตอบน้ำตาไหลพรากว่า
“ในโบราณกาลที่ซุนวูได้ชัยในแผ่นดิน ก็เพราะมีกฎวินัยแจ่มชัด
บัดนี้การรบพุ่งชุลมุนอยู่ การศึกเพิ่งจะเริ่มต้น หายยกเลิกกฎวินัยแล้ว
จะรบโจรได้อย่างไร จึงควรจะประหารเสีย มิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป”
.
กลับมาโลกปัจจุบันของเรา
ถ้าลูกน้องทำผิดคงไม่ต้องถึงกับสั่งประหารชีวิตนะคะ
แค่ให้ฟีดแบ็คแบบสร้างสรรค์ก็พอ :)
.
การให้ฟีดแบ็ค ควรทำอย่างสม่ำเสมอ
อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
ไม่ปล่อยให้ล่วงเลยไปปีนึงแล้วค่อยมาบอกลูกน้องรวบยอดตอนประเมินผลงานประจำปี
ว่าเค้าทำไม่ดีไม่ถูกแบบนั้นแบบนี้ .. ถ้าเป็นแบบนี้คงเสียความรู้สึกกันได้ง่ายๆ
พาลน้อยใจหางานใหม่แล้วลาออกไปก็เป็นได้
.
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็อาจให้คำแนะนำ
และหมั่นติดตามหัวหน้างานในการให้ฟีดแบ็คกับลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ
.
เราลองมาให้ฟีดแบ็คแก่ลูกน้องแบบสร้างสรรค์กันดีมั๊ยค่ะ
**********
โค้ชบี ขนิษฐา หล่อลักษณ์
โค้ชผู้บริหาร/โค้ชผู้นำ และที่ปรึกษาการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร ได้รับวุฒิบัตรรับรองการโค้ชระดับ
Associate Certified Coach (ACC) จากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International
Coach Federation หรือ ICF)
https://www.facebook.com/CoachACoach
ติดตามบล็อกได้ที่ http://bemanagementcoach.blogspot.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น