Brain-based Coach เพื่อผู้บริหาร เข้าใจพื้นฐานการโค้ชง่ายๆ ใน 5 นาที

คำว่า “โค้ช” มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาฮังการีซึ่งแปลว่ารถม้า ความหมายที่นำมาใช้ในปัจจุบันหมายถึงการนำพาผู้รับการโค้ชจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหมายปลายทางอีกจุดหนึ่งนั่นเอง ปัจจุบันนี้มีคำว่าโค้ชให้ได้ยินกันมากมายในหลากหลายวงการ เช่น โค้ชสร้างแรงบันดาลใจ โค้ชกีฬา โค้ชการเงิน โค้ชนักร้อง โค้ชภาพลักษณ์ ฯลฯ

สำหรับ Brain-based Coach หรือ โค้ชเชิงประสาทวิทยา เป็นรูปแบบหนึ่งของการโค้ชที่นำมาใช้โค้ชผู้บริหาร โดยใช้กระบวนการฟัง ตั้งคำถาม และสะท้อนกลับ โดยไม่มีการชี้นำ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้รับการโค้ช และเป็นการดึงศักยภาพของผู้รับการโค้ชออกมาใช้อย่างสูงสุดเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว

การโค้ชในรูปแบบนี้ มีมาตรฐานซึ่งได้รับการรับรองโดยโดยสหพันธ์โค้ชนานาชาติ หรือ International Coach Federation (ICF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการโค้ชอันดับหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา
หัวใจในการเป็นโค้ชที่ดีคือการมีทักษะและทัศนคติแบบโค้ช ประกอบด้วย
- การสร้างความไว้วางใจ (Trust & Respect) เพื่อให้ผู้รับการโค้ชเปิดใจในการพูดคุยกับโค้ชและเชื่อมั่นในกระบวนการโค้ช
- การฟังเชิงลึก (Deep Listening) คือฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ลึกถึงสิ่งที่ไม่ได้ยิน ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังโดยไม่ด่วนสรุป เพื่อให้รู้ถึงแก่นแท้ของประเด็นปัญหา ไม่ใช่เพียงแค่เนื้อหาที่ได้ยิน ดังนั้น การมีสติอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับโค้ช
- การใช้คำถามทรงพลัง (Powerful Questioning) เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้รับการโค้ชในการหาทางเลือกใหม่ๆ ไม่ใช้คำถามแบบชี้นำโดยใส่ความเห็นส่วนตัวของโค้ชเข้าไป ไม่ถามลงรายละเอียดมากเกินไปแต่จะเน้นเรื่องวิสัยทัศน์และการวางแผนงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย
- การสื่อสารตรง (Direct Communication) โค้ชต้องสามารถสื่อสารทั้งสิ่งที่ได้ยินและไม่ได้ยิน สะท้อนกลับให้แก่ผู้รับการโค้ช เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องที่ทำการโค้ช
- การส่งเสริม ชื่นชม ให้กำลังใจ (Morale Support) เพื่อให้ผู้รับการโค้ชเดินทางไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นใจ

โดยมี 4 ขั้นตอนการโค้ชแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า G.R.O.W. Model ดังนี้
1. Goal ค้นหาเป้าหมาย - ตั้งเป้าหมายที่ผู้รับการโค้ชต้องการทำให้สำเร็จ หรือประเด็นปัญหาที่ต้องการหาทางออก สิ่งนี้เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุด บางครั้งคนเรามีหลายเรื่องที่อยากคุยอยากแก้ปัญหา แต่เวลาเล่าให้โค้ชฟังอาจมีหลายเรื่องซ้อนๆ กัน โค้ชต้องสามารถตั้งคำถามเพื่อหาประเด็นหลักที่เป็นสิ่งที่ผู้รับการโค้ชสนใจที่สุดหรือกังวลใจที่สุด และทวนสิ่งที่ได้ยินให้แก่ผู้รับการโค้ชเพื่อสร้างความกระจ่างชัดในเป้าหมายการโค้ชแต่ละครั้ง
2. Reality สอบถามสถานการณ์รายรอบ - เมื่อรับทราบถึงเป้าหมายการโค้ชแล้ว โค้ชจะถามถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกต่อสถานการณ์เหล่านั้น การประเมินสิ่งที่ได้ทำไปแล้วกับสิ่งที่ยังขาดหาย และผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ โดยโค้ชจะต้องขยายมุมมองความคิด ความเชื่อ ความรู้สึกของผู้รับการโค้ช ให้เป็นไปในเชิงบวกที่มุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
3. Option เค้นทางเลือกคำตอบ - โค้ชจะช่วยตั้งคำถามเพื่อให้ผู้รับการโค้ชคิดหาทางเลือกต่างๆ ที่สามารถทำได้ และพยายามขยายความคิดและมุมมองเพื่อให้ได้ทางเลือก/วิธีการมากขึ้น เช่น การหาต้นแบบ การมองต่างมุม การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นต้น
4. Will/Way Forward ชอบแล้วให้มุ่งมั่นทำ - เมื่อได้ทางเลือกที่ต้องการแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเกิดความมุ่งมั่นในการกระทำตามแผนงานเหล่านั้น โดยโค้ชจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับการโค้ช สร้างกระบวนการเรียนรู้ และวางแผนการติดตามผลต่อไป

คำถามที่พบบ่อย
1. โค้ชมีความรู้ทุกเรื่องที่จะโค้ชหรือ? โค้ชจะใช้กระบวนการโค้ชนำบริบท โดยจะมุ่งเน้นไปที่วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และทางออก ไม่เจาะลึกลงไปในรายละเอียดหรือปัญหา ดังนั้น การโค้ชแบบนี้จะสามารถใช้ได้กับการโค้ชทุกเรื่อง เช่น โค้ชผู้บริหาร โค้ชผลการปฏิบัติงาน และโค้ชชีวิต
2. ไม่ได้มีปัญหาอะไร จะโค้ชได้หรือเปล่า? ผู้รับการโค้ชไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีปัญหา อาจเป็นผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะผู้นำให้ดียิ่งขึ้น หรือกระทำการในเรื่องต่างๆ ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น
3. หากเรามั่นใจว่าเราคิดวิเคราะห์ทุกอย่างรอบด้านแล้ว ทำไมเราต้องรับการโค้ชอีก? โค้ชช่วยให้การคิดวิเคราะห์ของผู้รับการโค้ชกระจ่างชัดขึ้น มีมุมมองที่หลากหลายขึ้น และอาจค้นพบทางเลือกใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการโค้ชที่เราเรียกว่า AHA Moment แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้รับการโค้ช หากไม่เชื่อมั่นในกระบวนการแล้ว ก็อาจไม่เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้
4. โค้ชแล้วอะไรๆ จะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นจริงหรือ? การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นหากผู้รับการโค้ชเชื่อมั่นในกระบวนการโค้ชและลงมือทำตามแผนงานที่วางไว้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

การโค้ชในรูปแบบนี้กำลังเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้างในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นศาสตร์การโค้ชที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งต่อตัวผู้ที่ฝึกฝนเป็นโค้ชเองในด้านทัศนคติเชิงบวก และยังช่วยโค้ชให้ผู้อื่นเกิดทัศนคติที่ดี พัฒนาทักษะการสื่อสาร มีวิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย เกิดความตระหนักรู้ในตนเอง และสามารถหาทางออกหรือวิธีการในการบรรลุเป้าหมายของเขาได้เองอีกด้วย

แต่ที่กล่าวมาเป็นการโค้ชแบบเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สำคัญอีกหลายอย่าง นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้โค้ชได้อย่างมีประสิทธิผลคือการฝึกฝนอยู่เสมอและศึกษาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคนิคและเครื่องมือการโค้ช หลักการบริหารทรัพยากรบุคคล จิตวิทยา ศาสนา ปรัชญา ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการโค้ชได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ขนิษฐา หล่อลักษณ์ หรือ โค้ชบี เป็นโค้ชผู้บริหาร/โค้ชผู้นำ และที่ปรึกษาการสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร ได้รับวุฒิบัตรรับรองการโค้ชระดับ Associate Certified Coach (ACC) จากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation หรือ ICF)
https://www.facebook.com/CoachACoach
บทความจาก Manager Online 28 กันยายน 2558
http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx…

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ทำได้ยาก.. แต่อยู่ด้วยได้ง่าย

ใครคืออาจารย์ของคุณ?

The Inner Game of Tennis โฟกัสเกมภายในจิตใจ เพื่อชัยชนะเกมภายนอก